เดินทางอย่างไร?? ปลอดภัยช่วงสิ้นปี
ฉลอง!! เลี้ยงขอบคุณ ใช้จ่าย เดินทาง ท่องเที่ยว กลับภูมิลำเนา กิจกรรมเหล่านี้มักเกิดขึ้นพีคที่สุดในเดือนธันวาคมของทุกปี เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ มีวันหยุดหลายวัน อีกทั้งเป็นช่วงจ่ายโบนัสประจำปี จึงไม่แปลกที่เดือนนี้จะเกิดการใช้จ่าย การเดินทาง พุ่งสูงขึ้นกว่าช่วงอื่นๆของปี การเกิดขึ้นของกิจกรรมต่างๆดังกล่าว นอกจากจะทำให้บรรยากาศคึกคัก สนุกสนาน และกระตุ้นภาคธุรกิจต่างๆแล้ว คงปฎิเสธไม่ได้ว่ากิจกรรมเหล่านี้เป็น “พาหะ” ในการนำพาอุบัติเหตุบนท้องถนนให้พุ่งสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ทั้งจากการเมาแล้วขับ การพักผ่อนไม่เพียงพอ ความเร่งรีบ ความประมาท การจราจรที่หนาแน่น ความไม่คุ้นเคยเส้นทางของผู้ใช้รถใช้ถนน ฯลฯ
ที่ผ่านมาเราจะเห็นหน่วยงานต่างๆรณรงค์ลดอุบัติเหตุกันอย่างต่อเนื่อง แต่ผลที่ได้คือสถิติการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลยังอยู่ในระดับสูงทุกปี อีกทั้งยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเป็นอันต้นๆของประเทศ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ ดังนั้นความปลอดภัยจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเมื่อเรารักที่จะสนุกเพลิดเพลิดกับการท่องเที่ยวแล้ว ก็ควรกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข-ปลอดภัย อย่าปล่อยให้เทศกาลแห่งความสุข กลายเป็นเทศกาลแห่งความสูญเสีย
ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ออกแนวทางในการปฏิบัติเพื่อช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถตรวจเช็คความปลอดภัยของโดยสารสาธารณะได้ด้วยตัวเอง ดังต่อไปนี้
ก่อนเลือกใช้บริการ
- การซื้อบัตรโดยสารควรตรวจสอบความถูกต้องทุกครั้ง จดจำชื่อของผู้ประกอบการหรือบริษัทก่อนทุกครั้ง เพื่อเป็นประโยชน์ในการร้องเรียนเมื่อมีปัญหา และเก็บบัตรโดยสารไว้ทุกครั้งเพื่อใช้เป็นหลักฐานเอาผิดผู้ประกอบการที่ทำผิดกฏหมาย
- ทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานีและจุดจอดของแต่ละประเภทรถบริการ โดยจะต้องขึ้น-ลงรถ ณ จุดจอดเท่านั้น คือ ที่จุดจอดต้นทาง-ปลายทางหรือ จุดที่ถูกกำหนดไว้เท่านั้น เพราะเสี่ยงต่ออุบัติเหตุทางถนนและถ้าจอดในที่เปลี่ยวอาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้โดยสาร
- สังเกตภายนอกตัวรถให้บริการโดยเลือกใช้รถบริการรถป้าย “สีเหลือง” มีสัญลักษณ์แสดงการชำระภาษีรถและเลือกรถที่มีสภาพภายนอกแข็งเเรงและอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ เช่น ล้อเเละยางไม่แบนไม่เบี้ยว ไฟเบรก ไฟหน้า ไฟท้าย ติดครบไม่เเตกเพราะหากสภาพรถมีการดัดแปลง หรือเสียหาย อาจทำให้การขับขี่ไม่ปลอดภัยได้
ขณะรับบริการ
- ป้ายที่ควรสังเกตทุกครั้ง เช่น รายละเอียดคนขับและเบอร์ติดต่อรับร้องเรียนป้ายเตือนความปลอดภัยต่าง ๆ เช่น การคาดเข็มขัดนิรภัย
- การสังเกตสภาพภายในรถ ควรเลือกรถที่สภาพสะอาด มีอุปกรณ์ความปลอดภัยที่ครบสมบูรณ์พร้อมใช้งาน เช่น ค้อนทุบกระจก ถังดับเพลิง เข็มขัดนิรภัย ไม่มีเก้าอี้เสริม และเบาะอยู่ในสภาพดี
- ข้อควรปฏิบัติขณะใช้บริการรถโดยสาร
- ไม่นั่งรถที่บรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนที่กฏหมายกำหนด
- เช็กชื่อ รูปถ่าย ข้อมูล ของคนขับ ว่าตรงกับป้ายที่เเจ้งไว้หรือไม่
- คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งขณะอยู่บนรถไม่ว่าจะเป็นระยะทางที่ใกล้ หรือระหว่างทาง
- แจ้งพฤติกรรมการขับขี่ที่ไม่ปลอดภัย เช่น ขับเร็ว เมาสุรา หลับใน โทร.1584 (ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสาร สาธารณะ) หรือ 1508 (แจ้ง ร้องทุกข์เกี่ยวกับรถโดยสารของบขส.และรถร่วมบริการ)
ในการเดินทางนั้น เราไม่สามารถควบคุมความเสี่ยงจากผู้อื่นได้ทั้งหมด แต่หากสามารถควบคุมตนเองได้ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดเหตุได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่ทำเฉพาะในช่วงเทศกาลเท่านั้น ผู้ให้บริการรถโดยสาร ประชาชนทั่วไป ควรมีการตรวจเช็คสภาพรถและเครื่องยนต์อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงใช้รถใช้ถนนอย่างมีจิตสำนึกที่ดี เพื่อป้องกันและลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ลดสถิติการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงลดอัตราการบาดเจ็บของประชาชนที่ร่วมเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีนี้