กกร. จัดการประชุมประจำเดือนมีนาคม 2564
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จัดการประชุมประจำเดือนมีนาคม 2564 โดยมี นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นประธาน กกร. นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทยเป็นประธานร่วม ณ ห้องบอลรูม ชั้น 4 โรงแรมคอนราด เรสซิเดนซ์ กรุงเทพฯ โดยที่ประชุม กกร. มีความเห็นว่า
• ภาวะเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยปรับตัวดีขึ้น หลังจากกลับมาผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ได้อีกครั้ง จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันลดลงตามลำดับ และการเริ่มฉีดวัคซีนในประเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ นอกจากนี้ การส่งออกของไทยที่ไม่รวมทองคำปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในหลายสินค้า สะท้อนอุปสงค์ในตลาดโลกที่เติบโต ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1) ความสามารถในการควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งยังคงต้องเฝ้าระวังหลังผ่อนคลายมาตรการ 2) การกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และ 3) มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโควิด-19 รวมไปถึงการประคับประคองกำลังซื้อในประเทศ
• เศรษฐกิจโลกเริ่มมีทิศทางฟื้นตัวขึ้นชัดเจน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจหลักลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งประเทศเหล่านั้นมีอัตราการฉีดวัคซีนเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ทำให้หลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค เป็นผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมเริ่มปรับดีขึ้น ตลอดจนเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจที่สำคัญต่างๆ โดยเฉพาะเครื่องชี้ภาคการผลิตที่มีทิศทางดีขึ้นอย่างชัดเจน อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามสถานการณ์เชื้อไวรัสกลายพันธุ์ที่อาจส่งผลต่อจำนวนผู้ติดเชื้อ ตลอดจนความคืบหน้าในการส่งมอบวัคซีนและประเด็น vaccine passport ซึ่งจะปลดล็อคเรื่องของการเดินทางระหว่างประเทศต่อไป
• ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่เร่งตัวสูงขึ้นมาก รวมถึงสินค้าสำคัญในซัพพลายเชนที่ขาดแคลน อาจส่งผลต่อภาคการผลิตอุตสาหกรรมไทยในระยะต่อไป ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อย่างน้ำมันดิบและทองแดงเพิ่มสูงขึ้นมาก นอกจากนี้ สินค้าสำคัญของหลายอุตสาหกรรมอย่างเซมิคอนดัคเตอร์ก็ประสบภาวะขาดแคลนและเริ่มส่งผลต่ออุตสาหกรรมหลักที่เกี่ยวข้องทั่วโลกอย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งประเด็นเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทยในปีนี้ ทั้งในเรื่องต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น และแนวโน้มคำสั่งซื้อสินค้าที่จะชะลอลงในซัพพลายเชนที่ประสบปัญหา จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามนอกเหนือจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ยังไม่คลี่คลาย
• เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น และภาพของสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศ ที่เริ่มดีขึ้น ขณะที่ทางการก็เริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค ไปพร้อมกับความคาดหวังต่อการกระจายวัคซีนที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมถึงมาตรการภาครัฐที่สามารถบรรเทาผลกระทบของภาคธุรกิจและกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบอย่างตรงจุดจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นได้ ที่ประชุม กกร. จึงประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัวได้ในกรอบ 1.5% ถึง 3.5% ประมาณการการส่งออกในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัว 3.0% ถึง 5.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 0.8% ถึง 1.0%
กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 ของ กกร.
%YoY |
ปี 2563 (ตัวเลขจริง) |
ปี 2564 (ณ ก.พ. 64) |
ปี 2564 (ณ มี.ค. 64) |
GDP |
-6.1 |
1.5 ถึง 3.5 |
1.5 ถึง 3.5 |
ส่งออก |
–6.0 |
3.0 ถึง 5.0 |
3.0 ถึง 5.0 |
เงินเฟ้อ |
–0.85 |
0.8 ถึง 1.0 |
0.8 ถึง 1.0 |
• ตลาดการเงินของไทยเริ่มได้รับอิทธิพลจากการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว ส่งผลให้นักลงทุนขายพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของไทยและเงินบาทอ่อนค่าลง ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามต่อไป คือ แนวนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ที่อาจสร้างความผันผวนต่อตลาดการเงินทั่วโลก
• สมาคมธนาคารไทย ได้จัดทำข้อเสนอมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจของสมาคมธนาคารไทย ที่ได้มีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลัง เพื่อหารือข้อเสนอมาตรการประคองและรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ ฝ่าวิกฤติโควิด-19 ภายใต้แนวคิด “ปรับปรุง ฟื้นฟู เปลี่ยนแปลง” เพื่อมองไปข้างหน้า แก้ไขปัญหา และตอบโจทย์ให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพก้าวผ่านวิกฤติ อีกทั้งยังมีเวลาที่จะให้ธุรกิจได้ปรับตัวเพื่อรองรับการเติบโตต่อไปในอนาคต
– ปรับปรุง : “โครงการพักทรัพย์ พักหนี้” ซึ่งเป็นโครงการภาคสมัครใจที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ แต่ยังมีศักยภาพที่จะฟื้นตัวอยู่รอดได้ โดยให้ผู้ประกอบการสามารถลดภาระทางการเงินได้ชั่วคราว ด้วยการโอนทรัพย์ไว้กับธนาคารโดยมีสัญญาซื้อคืน เพื่อรอการฟื้นตัวของธุรกิจโดยไม่สูญเสียกิจการไป
– ฟื้นฟู : สำหรับธุรกิจที่เริ่มฟื้นตัวและมีความต้องการวงเงินสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติมนั้น เป็นการเพิ่มวงเงินสินเชื่อ ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งการเสริมสภาพคล่องเพื่อรองรับการกลับมาดำเนินธุรกิจแบบปกติ (Revive & Restart) โดยเสนอให้ภาครัฐ สนับสนุนสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสามารถเข้าถึงวงเงิน
– เปลี่ยนแปลง : การใช้ e-Invoicing บน Platform โดยให้มีมาตรฐานกลางทั้งในเรื่องรูปแบบของ Invoice ระยะเวลาที่เหมาะสมของ Credit Terms ซึ่งจะรวมถึงการร้องเรียน และการคืนสินทรัพย์ในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการค้าที่โปร่งใส และเป็นธรรมกับผู้ประกอบการทุกรายและจะทำให้ระบบเครดิตทางการค้าเชื่อมโยงกันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและสามารถแข่งขันได้
• เสนอภาครัฐเร่งเปิด Travel Bubble กับประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำถึงปานกลางเพื่อเปิดโอกาสให้ นักท่องเที่ยว นักธุรกิจที่มี Vaccine passport เข้ามาในประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
• เร่งรัดให้ภาครัฐจัดซื้อวัคซีนให้มากขึ้น จากหลาย ๆ แหล่งทั่วโลก เพื่อให้ครอบคลุมประชาชนคนไทยทั้งหมด แรงงานต่างด้าว นักธุรกิจต่างประเทศที่อยู่ในไทย และให้ อย. อนุมัติวัคซีนที่มีนำเข้าแล้วให้ผ่านเกณฑ์เร็วขึ้น
• ขอให้ภาครัฐอนุญาตให้ภาคเอกชนซื้อวัคซีนเอง เพื่อแบ่งเบาภาระภาครัฐและช่วยให้การฉีดวัคซีนเร็วขึ้น จะได้ช่วยให้ประเทศฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว
• ขอให้ภาครัฐให้ความสำคัญในการเร่งรัด การแก้ไขกฎหมาย ระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรค์ในการทำธุรกิจ (Regulatory Guillotine) และเร่งตั้งหน่วยงานเพื่อทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐและเอกชนในการแก้ไข โดยการศึกษาพบว่าถ้าประเทศไทยมีการแก้ไขได้รวดเร็วจะช่วยให้เพิ่ม GDP ของประเทศได้อย่างมาก