อังคาร. พ.ย. 26th, 2024

แนะ 5 กลยุทธ์พลิกธุรกิจรายเล็ก เอาชนะวิกฤติ COVID-19

การระบาดของ Coronavirus หรือ COVID-19 กำลังแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อผู้คนมากมายทั่วโลก รัฐบาลของหลายประเทศทั่วโลกจึงจำเป็นต้องใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดอย่างการ ล็อกดาวน์ เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาด กิจการทั้งหมดที่เป็นแหล่งรวมผู้คนจึงต้องหยุดชะงัก ทำให้เศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ประเทศไทยก็เช่นกัน สถานบันเทิง ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว ยกเว้นร้านขายอาหาร ต้องปิดให้บริการชั่วคราวในช่วงนี้ เพื่อลดความเสี่ยงในติดโรคของประชาชน ทำให้ธุรกิจในประเทศไทยได้รับผลกระทบไปตาม ๆ กัน

ผลกระทบโควิดต่อธุรกิจแต่ละประเภท

  • ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจท่องเที่ยวได้รับความเสียหายอย่างหนักในวิกฤติการณ์นี้ เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่กระจายเชื้อโรค คนไม่กล้าออกไปไหนเพราะกลัวติดเชื้อ COVID-19 อีกทั้งมีมาตรการห้ามเดินทางโดยไม่จำเป็นและปิดสถานที่ที่อาจทำให้เกิดการรวมตัวของผู้คน จึงทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวหยุดชะงักไปโดยปริยาย เห็นได้ชัดจากแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในไทย เช่น ภูเก็ต ที่มีประกาศ ล็อคดาวน์จังหวัด เนื่องจากมีการระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก
  • ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจร้านอาหารไม่ได้หยุดชะงักไปเสียทีเดียวในช่วงการแพร่ระบาดของโรคเนื่องจากอาหารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต แต่ก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยว และผู้คนใช้ชีวิตส่วนใหญ่ภายในบ้านมากกว่านอกบ้าน รายได้ของร้านอาหารจึงลดลงโดยเฉพาะร้านอาหารประเภทที่เน้นนั่งกินที่ร้านเท่านั้นอย่างปุฟเฟ่ต์, FineDining, และเชฟเทเบิ้ลที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน เช่น ในกรณีของร้านระดับมิชลินสตาร์ Rech by Alain Ducasse ของเชฟระดับโลก Alain Ducasse ในฮ่องกง ที่สถาณการณ์ของร้านแย่อยู่แล้วจากผลกระทบของการประท้วงในฮ่องกง และในที่สุดต้องปิดตัวลงเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเนื่องจากโดนพิษของ COVID-19 ซ้ำอีกรอบ
  • ธุรกิจบันเทิง COVID-19 ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นสถานบันเทิง สื่อบันเทิง กิจกรรมเพื่อความบันเทิง หรือเกมกีฬา เพราะมาตรการจำกัดการชุมนุมของคนจำนวนมากส่งผลให้ศูนย์รวมความบันเทิงหรืองานวงการบันเทิงที่ต้องมีคนไปรวมตัวกันต้องปิดและหยุดกิจกรรมลงชั่วคราว เช่น โรงภาพยนตร์ ผับ บาร์ กองถ่าย งานคอนเสิร์ต การแข่งขันฟุตบอล เป็นต้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในไทยคือถนนข้าวสารที่เคยเป็นแหล่งรวมโรงแรม ร้านอาหาร สถานบันเทิงมากมาย ในตอนนี้กลับเงียบเชียบแทบไร้ผู้คน
  • ธุรกิจคมนาคมขนส่ง ข้อจำกัดในด้านการเดินทาง รวมถึงความต้องการเดินทางที่ลดลง ส่งผลให้กิจการที่เกี่ยวกับการคมนาคมขนส่งซบเซาลงจนแทบจะหยุดชะงัก ได้แก่ธุรกิจการบิน ที่สายการบินต้องทยอยลดเที่ยวบินจนถึงหยุดการบินชั่วคราวทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากมาตรการคัดกรองคนเข้า-ออกประเทศอย่างเข้มงวด ต่อมาคือการขนส่งทางบก ทั้งรถยนต์โดยสาร รถไฟ รถไฟฟ้า ที่ผู้โดยสารลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง และการขนส่งทางน้ำ เช่น เรือให้บริการในคลองแสนแสบที่มีผู้โดยสารน้อยลงกว่าเดิมมากเช่นกัน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากข่าวและสะเทือนใจคนในสังคม คือ คนขับแท็กซี่ที่รายได้ลงลงจนแทบไม่มีเงินจ่ายค่าเช่ารถจนต้องหันไปรับจ้างส่งของแทน แม้ในกรณีนี้จะมีคนช่วยเหลือมากมาย แต่เชื่อว่ายังมีคนอื่น ๆ ที่เดือดร้อนและไม่ได้รับการช่วยเหลืออีกมากเช่นกัน

  • ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจโรงแรมมีผลกระทบต่อเนื่องมาจากการท่องเที่ยวหยุดชะงัก ทั้งโรงแรมขนาดเล็กและขนาดใหญ่ทั่วประเทศค่อย ๆ ปิดตัวลงเนื่องจากไม่มีคนเข้าพักหรือมีน้อยมาก แต่บางแห่งต้องปิดตามมาตรการลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรค เช่น ในจังหวัดภูเก็ต ที่ถูกสั่งปิดสถานประกอบการประเภทโรงแรมทุกประเภท เนื่องจากการระบาดของเชื้อโควิดภายในพื้นที่
  • ธุรกิจค้าปลีก เดิมทีธุรกิจค้าปลีกในปัจจุบันชะลอตัวจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอยู่แล้ว แต่พอเกิดวิกฤติการณ์แพร่ระบาดของโควิดที่ทำให้ธุรกิจปิดตัว ตลาดและห้างสรรพสินค้าถูกปิด คนตกงาน บางคนรายได้ลดลงหรือบางคนไม่มีรายได้เลยก็ยิ่งทำให้การค้าปลีกซบเซาลง โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่จำเป็นที่จะถูกตัดออกจากรายการที่ต้องซื้อของผู้คนไปก่อน ร้านค้าปลีกที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ ร้านค้าที่เปิดในห้างสรรพสินค้าหรือตลาดนัดที่ต้องปิดตัวชั่วคราวในตอนนี้

วิธีการปรับตัวพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส

ถึงแม้จะเจอวิกฤติหนัก แต่หากมองให้ดียังมีโอกาสซ่อนอยู่ การพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสในช่วงเวลานี้จึงสามารถเกิดขึ้นได้หากตั้งใจจริง

  • รักษาธุรกิจของตนให้ปลอดเชื้อ ในเวลานี้สิ่งที่ทุกคนกลัวที่สุดคือเชื้อโควิด จึงไม่มีใครอยากสัมผัสหรือเข้าใกล้คนอื่น แม้แต่คนในครอบครัว เพราะเมื่อเชื้อโรคระบาดทุกคนมีโอกาสติดได้ทั้งนั้น การทำธุรกิจในช่วงนี้จึงต้องสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าว่าใช้มาตรการและรักษาความสะอาดที่เหมาะสมในการต่อสู้กับการระบาด
  • ปรับบริการให้เข้ากับสถานการณ์ เมื่อคนต้องอยู่บ้าน ไม่สามารถเดินไปเข้าไปหาสินค้าได้ ผู้ประกอบการสามารถทำให้สินค้าเดินเข้าไปหาคนได้ ตัวอย่างที่ชัดเจน คือร้านอาหารที่ตอนนี้หันมาให้บริการแบบส่งถึงบ้านกันมากมายและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในช่วงนี้ ซึ่งถ้าธุรกิจอาหารสามารถทำได้ ธุรกิจอื่นก็ทำได้ไม่ยากเช่นกัน อาจเสนอโปรโมชั่นพิเศษเพื่อดึงดูดลูกค้า เช่น การจัดส่งฟรี ส่วนลดสำหรับการซื้อจำนวนมาก หรือส่วนลดและสิทธิประโยชน์สำหรับสมาชิก เป็นต้น
  • ลดค่าใช้จ่าย ทุกธุรกิจย่อมกำหนดต้นทุนและค่าใช้จ่ายของตัวเองไว้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ต้นทุนการผลิต การตลาด บุคลากร แต่ในช่วงเวลายากลำบาก การบริหารจัดการต้นทุนต้องรัดกุมยิ่งกว่าเดิม เพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถประคับประคองตัวเองไปได้ เริ่มด้วยการตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออก ลดการใช้จ่ายของฟุ่มเฟือย เช่น ของใช้ในสำนักงานบางอย่าง, ลดจำนวนหน้าร้านลง, เจรจาต่อรองลดค่าเช่าพื้นที่ ให้พนักงานทำงานที่บ้านเพื่อลดค่าใช้จ่ายในสำนักงานและได้ช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อไปในตัวด้วย

ก้าวเข้าสู่ช่องทางออนไลน์

ไม่มีช่องทางไหนเหมาะสมกับการขายสินค้าในสถาณการณ์ที่คนต้องกักตัวอยู่แต่ในบ้านมากไปกว่าช่องทางออนไลน์ ที่ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ง่ายๆผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และแท็บเล็ต แต่สิ่งสำคัญคือต้องเลือกแพลตฟอร์มที่เหมาะสม ดูว่าสินค้าของเรามีกลุ่มเป้าหมายแบบไหน แล้วมุ่งไปที่นั่น นอกจากนั้นเรายังสามารถนำหลัก 5C’s มาใช้ในขายออนไลน์ให้ประสบความสำเร็จได้อีกด้วย

  1. C1 Core Focus (เน้นจุดแข็ง) มองหาและนำเสนอจุดแข็งของสินค้าหรือบริการของตัวเองให้เจอ หรือทำสิ่งที่ตัวเองชอบและถนัดให้เกิดเป็นจุดแข็ง ซึ่งจะทำให้เกิดผลงานคุณภาพดี เช่น หากเราถนัดวาดภาพ ให้ผสมผสานภาพวาดกับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ กระเป๋า รองเท้า สมุดบันทึก เป็นต้น
  2. C2 Content Marketing (สร้างเนื้อหาที่โดดเด่น) เมื่อเรามีของดีแล้ว เราต้องนำเสนอให้เป็นด้วย ในปัจจุบันคอนเทนต์ที่กำลังได้รับความนิยมในแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยเฉพาะช่องทางโซเชียลมีเดีย คือ วิดีโอ การสร้างวิดีโอเนื้อหาน่าสนใจ เช่น การแบ่งปันความรู้ด้วยความเป็นกันเอง รีวิวการใช้งานจริง เลือกใช้ Influencer นำเสนอสินค้า ก็เป็นตัวเลือกที่ดีไม่น้อยในการดึงดูดกลุ่มเป้าหมายให้คนหันมามองธุรกิจของเรา
  3. C3 Community Building (สร้างสังคม) คอนเทนต์ที่โดดเด่นจะนำพาคนที่สนใจสินค้าและบริการของเราหรืออาจเรียกได้ว่าลูกค้าในอนาคตมารวมตัวกัน และแพลตฟอร์มออนไลน์คือสิ่งที่คุณจะสามารถดึงพวกเขาให้มาอยู่ด้วยกัน สังคมออนไลน์ที่แนะนำสำหรับสร้างการติดต่อกับลูกค้าที่นิยม ได้แก่ Facebook Group และ Line Group
  4. C4 Channels (หาช่องทางกระจายสินค้า) ยิ่งเรามีช่องทางกระจายสินค้ามากเท่าไหร่ ก็มีโอกาสขายได้มากเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาด้วยว่าช่องทางเหล่านั้นเหมาะสมกับสินค้าหรือบริการของเราหรือไม่ เพราะแพลตฟอร์มออนไลน์มีเยอะมาก เช่น Facebook, Instagram, Twitter, YouTube, Line
  5. C5 CRM (การบริหารฐานลูกค้า) การดึงให้ลูกค้าสนใจว่ายากแล้ว การรักษาลูกค้าให้อยู่กับเรานาน ๆ นั้นยากกว่า ดั้งนั้นหากมีลูกค้าแล้วจึงต้องดูและใส่ใจให้ดี โดยอาจทำแบบสอบถามให้ลูกค้าแสดงความคิดเห็นต่อสินค้าและบริการเพื่อให้เราสามารถนำไปพัฒนาสินค้าตนเองได้ และสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้าอยู่เสมอ

ในวิกฤติการณ์แพร่ระบาดของโรคร้ายแรงเช่นนี้ ทุกคนย่อมได้รับผลกระทบโดยถ้วนทั่ว อาจจะมากน้อยต่างกัน แต่ไม่มีใครอยู่ได้อย่างสบายใจ สิ่งที่เราทุกคนต้องทำเพื่อให้อยู่รอดคือการปรับตัว มองหาสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่ในตัว ต้องมีสักอย่างที่เราทำได้ อาจจะเริ่มจากการแนะนำกับคนใกล้ตัว เพื่อดูผลตอบรับจากนั้นค่อย ๆ ขยายฐานลูกค้าออกไป อย่าเพิ่งเร่งรีบ ไปช้า ๆ แต่มั่นคงดีกว่า

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *