จันทร์. พ.ย. 25th, 2024

ส่องชีวิต “นักรบแห่งพงไพร” ในวันที่ป่าได้หยุดพัก แต่หน้าที่พิทักษ์ฯ ไม่เคยหยุด

เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ คนกลุ่มเล็ก ๆ ที่ถูกขนานนามว่า “นักรบแห่งพงไพร” หรือถูกยกย่องให้เป็นผู้ปิดทองหลังพระที่ทำหน้าที่ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติเพื่อคนไทยทุกคน ซึ่งคำเหล่านี้ไม่ได้เป็นการกล่าวเกินความจริง แต่เป็นการอธิบายถึง งานแห่งชีวิตของพวกเขาเหล่านี้ มาพร้อมกับหน้าที่และความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ในการดูแลผืนป่าอุทยานแห่งชาติที่ใหญ่อันดับ 3 ของประเทศให้อุดมสมบูรณ์มากที่สุด

 

แม้วันนี้อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศจะได้หยุดพักในการทำหน้าที่เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจให้กับนักท่องเที่ยว เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจะหยุดลงตามไปด้วย  ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละวันนั้น ยากที่จะคาดเดาได้ว่าจะต้องเจอกับสิ่งใด  บางครั้งอาจจะต้องเผชิญกับขบวนการลักลอบตัดไม้และล่าสัตว์  เสี่ยงกับโรคภัยไข้เจ็บสารพัด หรือแม้แต่ภัยธรรมชาติและความดุร้ายของสัตว์ป่าที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

“ศรุต พิรักษา” หรือ “ต๋อย” ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ฝ่ายอนุรักษ์ทรัพยากร อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เล่าถึงสถานการณ์และการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าหลังมีคำสั่งปิดอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศจากการระบาดของโรคโควิด-19 ว่า ขณะนี้อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศประกาศปิดตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา อาจจะเป็นข่าวร้ายของผู้รักการท่องเที่ยวที่ต้องการใกล้ชิดและศึกษาธรรมชาติ แต่ถือว่าเป็นความจำเป็นในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งหากมองอีกมุมหนึ่งนี่เป็นครั้งแรกของป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และป่าอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ ที่จะได้หยุดพักผ่อนอย่างเต็มที่ ปราศจากการรบกวนเป็นการให้เวลาแก่ธรรมชาติได้ฟื้นฟูตัวเองอย่างแท้จริง

ย้อนกลับไปเมื่อ ปี 2506 หรือประมาณ 61 ปี มาแล้วที่ป่าเขาใหญ่ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ จวบจนถึงวันนี้ป่าเขาใหญ่ไม่เคยได้หยุดพักในการต้อนรับนักท่องเที่ยวเลย แม้พื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นป่าอนุรักษ์ไม่ใช่เส้นทางท่องเที่ยว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมาเยือนของนักท่องเที่ยวเฉลี่ยปีละ 1.5 ล้านคน ย่อมมีผลกระทบต่อธรรมชาติและสัตว์ป่าไม่มากก็น้อย เพราะในเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาตินั้น หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเหยียบย่ำไปบนพื้นดินและพืชผิวดิน ทำให้เกิดการเสียหาย ล้มตาย หรือไม่เจริญเติบโต ส่วนผลกระทบต่อสัตว์ป่าก็เป็นการรบกวนวิถีชีวิตตามธรรมชาติ สร้างความหวาดระแวงจากกลิ่นและเสียงของมนุษย์  ทำให้การหากินและพฤติกรรมของสัตว์ผิดไปจากธรรมชาติ เพราะนักท่องเที่ยวบางคนฝ่าฝืนกฎข้อบังคับของอุทยานฯ อาทิ ทิ้งขยะไม่ถูกที่ ให้อาหารสัตว์ป่า ขับรถเร็วเกินกำหนด เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุให้สัตว์ป่าได้รับอันตรายบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ด้านการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ในเวลานี้ทุกคนยังคงทำงานกันเหมือนภาวะปกติ เพราะงานพิทักษ์ป่าไม่มีวันหยุด งานที่รับผิดชอบครอบคลุมในหลายมิติ  ทั้งป้องกัน ปราบปราม งานด้านการศึกษาวิจัย และสร้างมวลชน

ส่วนที่หนักสุดและเป็นงานหลักของเจ้าหน้าที่ คือ การตรวจลาดตระเวน เนื่องจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีขนาดพื้นที่ 2,168 ตารางกิโลเมตร หรือ 1,355,396 ไร่  แต่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ที่รับผิดชอบมีประมาณ 460  คน  ในจำนวนดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ต้องลาดตระเวน ป้องกัน และปราบปราม เพียง 250 คน  แบ่งหน้าที่กันเป็นส่วนกลาง 5 ชุด หมุนเวียนกันเข้าป่า และรอบแนวเขตป่าอีก 23 ชุด ทำงานร่วมกันตลอด 24 ชั่วโมง  หากมองแค่จำนวนอย่างเดียวอาจดูเหมือนมาก แต่เมื่อเทียบกับขนาดพื้นที่รับผิดชอบแล้วถือว่าไม่เพียงพอ เพราะเฉลี่ยแล้วเจ้าหน้าที่ 1 คน ต้องดูแลพื้นที่ป่ามากถึง 5,000 ไร่

การออกลาดตระเวนแต่ละครั้ง เจ้าหน้าที่ต้องแบกสัมภาระ อาวุธ และอุปกรณ์ยังชีพน้ำหนักถึง 15-25 กิโลกรัม การปฏิบัติหน้าที่เป็นระยะเวลานานหลายปี  สิ่งที่ตามมาคืออาการเจ็บหลัง ปวดเมื่อย หรือบางคนเจ็บหนักถึงขั้นเรื้อรัง หลังเสีย จนต้องย้ายไปปฏิบัติหน้าที่อื่นแทน ดังนั้น “ยา” ถือเป็นสิ่งสำคัญมากเมื่อเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในป่า ซึ่งยาที่เตรียมไปส่วนใหญ่จะเป็นยาที่ครอบคลุมการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นได้บ่อย อาทิ ยาแก้ปวดลดไข้ ยาบรรเทาอาการปวดเมื่อยคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้แพ้ ยาแก้ผื่นคัน  รวมไปถึงเวชภัณฑ์ที่ใช้ในการปฐมพยาบาลเมื่อได้รับบาดเจ็บ ฯลฯ  นอกจากนี้ยังมียาสำหรับคนที่มีโรคประจำตัว  ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ทุกครั้งจะมีการตรวจสุขภาพของเจ้าหน้าที่ก่อน หากคนไหนสุขภาพไม่ดี ไม่พร้อมก็จะไม่อนุญาตให้เข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่

แม้เจ้าหน้าที่ฯ จะต้องทำงานหนัก แต่ทุกคนก็ยินดีและพร้อมที่จะทำหน้าที่ดูแลทรัพยากรป่าไม้อย่างเต็มที่  และด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ บริษัท ไบโอฟาร์ม เคมิคัลส์ จำกัด ได้เล็งเห็นความสำคัญของ “ผู้พิทักษ์ป่า” จึงสนับสนุนตู้ยา เติมยาและเวชภัณฑ์ พร้อมให้ความรู้เรื่องการดูแลรักษาสุขภาพให้กับประชาชนรวมไปถึงเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการ “45 ปี  ไบโอฟาร์มเพื่อชุมชน เติมยา เติมความห่วงใย”

ด้าน “เภสัชกรปริญญา เปาทอง” ผู้อำนวยการฝ่ายประสานงานองค์กร บริษัท ไบโอฟาร์ม เคมิคัลส์ จำกัด กล่าวถึง การมอบยาและเวชภัณฑ์เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ในการลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าและหน่วยปฐมพยาบาลนักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ครั้งนี้ว่า เป็นกิจกรรมที่ ไบโอฟาร์มดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากการมอบยาและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ แล้ว ยังได้มอบแอลกอฮอล์เจลสำหรับล้างมือจากคณะเภสัชศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ โดยหวังจะสร้างขวัญกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ให้มีพลังกายพลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ปกป้องผืนป่าและทรัพยากรธรรมชาติของเราให้คงอยู่ตลอดไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *