อาทิตย์. พ.ย. 24th, 2024

นายกรัฐมนตรี เปิดทดลองเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า MINE SMART FERRY พร้อมเปิดท่าเรือสะพานพุทธ เป็น Smart Pier แห่งแรก

กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม เปิดโครงการทดลองเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าในแม่น้ำเจ้าพระยา MINE SMART FERRY “MISSION NO EMISSION” River Mass Transit พร้อมเปิดท่าเรือสะพานพุทธยอดฟ้า ท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) โดยกรมเจ้าท่า ร่วมกับ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) พัฒนาเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า MINE SMART FERRY ผลิตด้วยฝีมือคนไทย และดำเนินการจดทะเบียนเรือโดยสารไฟฟ้าลำแรกของประเทศไทย พร้อมนำเทคโนโลยีทันสมัยปรับปรุงท่าเรือสะพานพุทธให้เป็นท่าเรืออัจฉริยะ Smart Pier ส่งเสริมทางเลือกใหม่ในการเดินทางในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไร้มลพิษ โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดโครงการฯ ณ ท่าเรือ แคท ทาวเวอร์ กสท. โทรคมนาคม เขตบางรัก และท่าเรือสะพานพุทธ เขตพระนคร กรุงเทพฯ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ได้มีการประกาศใช้มาระยะหนึ่งแล้วนั้น หนึ่งในยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลให้ความสำคัญคือ “ยุทธศาสตร์ชาติด้ารการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ซึ่งในขณะนี้นานาประเทศล้วนให้ความสำคัญต่อสภาพภูมิอากาศของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยในขณะนี้ต้องเผชิญปัญหาสภาวะฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งการพัฒนาเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า MINE Smart Ferry ลำแรกในแม่น้ำเจ้าพระยา และท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) แห่งแรก นับได้ว่าเป็นการยกระดับการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางน้ำให้มีมาตรฐานความปลอดภัย ทันสมัย สามารถช่วยลดมลภาวะฝุ่นละอองและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยว่า เรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า MINE Smart Ferry เป็นเรือไฟฟ้าที่กลุ่ม EA ออกแบบและสร้างขึ้น เพื่อรองรับการส่งเสริมการเดินทางขนส่งมวลชนทางน้ำ จึงนับเป็นผลสำเร็จจากการร่วมมือของกลุ่ม EA กับภาครัฐ โดยการนำเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเที่ยมไอออนที่ผลิตในกลุ่มของ EA มาพัฒนาสำหรับใช้กับยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อการขนส่งมวลชนขนาดใหญ่เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ด้วยความจุถึง 800 กิโลวัตต์ชั่วโมง และสามารถอัดประจุไฟฟ้าจากสถานีชาร์จ EA Anywhere เทคโนโลยีของกลุ่ม EA ได้ด้วยเวลาเพียง 20 นาที จึงนับเป็นจุดสำคัญของการสร้างความเชื่อมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีที่กลุ่ม EA มีเพื่อขยายไปยังยานยนต์ไฟฟ้าประเภทอื่น ๆ ต่อไป โดยใช้พลังงานไฟฟ้าที่บรรจุในแบตเตอรี่ลิเที่ยมไอออนที่กลุ่ม EA สามารถผลิตได้เอง ซึ่งในที่สุดจะส่งผลดีต่อประเทศ ทั้งด้านการประหยัดพลังงาน ลดมลพิษ และการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกันของไทย

โครงการเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าว่า MINE Smart Ferry ได้รับรางวัลเกียรติคุณในการประกวดนวัตกรรมแห่งชาติ ปี 2563 จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติและได้รับการจดทะเบียนจากกรมเจ้าท่า ให้เป็นเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าลำแรกของประเทศไทย  ตัวเรือทำจากอลูมิเนียม เป็นเรือสองท้อง (Catamaran) ทำให้การทรงตัวดีเยี่ยม สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยความเร็วสูงสุดถึง 18 น๊อต ความยาวตลอดลำเรือ 23.97 เมตร กว้าง 7 เมตร ลึก 2.30 เมตร ติดตั้งสถานีชาร์จไฟแบบ DC Fast Charge ระดับ 4-C ความจุแบตเตอรี่ Li-ion 768 kW-hr เวลาสำหรับใช้งานต่อการชาร์จ 2-4 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความเร็วในการเดินเรือ สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุดถึง 250 คน

ภายในเรือติดระบบปรับอากาศ มีระบบตั๋วโดยสารอัตโนมัติ สามารถซื้อตั๋วผ่านแอพพลิเคชั่นและพร้อมรองรับระบบตั๋วร่วมกับระบบขนส่งทุกประเภทได้ในอนาคต นอกจากนี้ในเรือมีจอให้ข้อมูลการเดินทาง และระบบประกาศให้ผู้โดยสารทราบข้อมูลตลอดการเดินทาง พร้อมอุปกรณ์ความปลอดภัยตามมาตรฐานที่กรมเจ้าท่ากำหนด

บริษัทมีโครงการที่จะผลิตเรือเพื่อให้บริการทั้งหมด 27 ลำ ซึ่งจะสามารถประหยัดน้ำมันดีเซลได้ถึง 4,730,000 ลิตรต่อปี และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึง 12,771 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี สำหรับช่วงการเริ่มทดลองให้บริการจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์2564 โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แบ่งการให้บริการออกเป็น 2 ส่วนคือ วันจันทร์-ศุกร์ ให้บริการฟรี !! จอดรับส่งผู้โดยสาร บริเวณท่าเรือ 11 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือพระราม 5 พระราม 3 เกียกกาย บางโพธิ์ เทเวศร์ พรานนก ปากคลองตลาด ราชวงศ์ กรมเจ้าท่า แคท ทาวเวอร์ และสาทร ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ จะให้บริการฟรี !! เฉพาะท่าเรือที่อยู่ใกล้ แหล่งท่องเที่ยว จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ ท่าช้าง วัดอรุณฯ วัดกัลยาณมิตร กรมเจ้าท่า และท่า แคท ทาวเวอร์

โดยจะเริ่มเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นเวลา 6 เดือน จากนั้นจะคิดค่าโดยสารตามระยะทาง ซึ่งอยู่ในระหว่างการเสนอให้กรมเจ้าท่าพิจารณาอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม และแผนที่จะเปิดให้บริการเฟส 2 อีก 3 เส้นทาง ภายในเดือนเมษายน 2564 ประกอบด้วย 1.Urban Line เชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าสายสีม่วง เริ่มที่สถานีพระนั่งเกล้า-สาทร 2.Metro Line เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เริ่มที่สถานีพระราม 7 และ 3.City Line เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่สถานีสาทร ส่วนเฟส 3 ภายในเดือนพฤษภาคม 2564 จะเปิดให้บริการครบสมบูรณ์ทั้ง 3 เส้นทาง

นอกจากนี้ กลุ่ม EA ได้ร่วมมือกับกรมเจ้าท่า ในโครงการปรับปรุงท่าเรือต่าง ๆ ทั้งด้านอารยะสถาปัตย์ เพื่อความสวยงาม และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบการบริหารจัดการให้ทันสมัย ปลอดภัย และสะดวก ยิ่งขึ้น เริ่มนำร่องจากการพัฒนาท่าเรือสะพานพุทธให้เป็นท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) มีการติดตั้ง Digital Signage เพื่อแจ้งข้อมูลการบริการ การออกตั๋วด้วยเครื่องอัตโนมัติการใช้อุปกรณ์ตรวจจับสิ่งผิดปกติเพื่อความปลอดภัย เป็นต้น

โครงการเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้านี้เป็นส่วนสำคัญของความร่วมกับกระทรวงคมนาคม และกรมเจ้าท่า ในการดำเนินการตามแผนพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งที่หันมาให้ความสำคัญกับการนำพลังงานไฟฟ้า มาใช้แทนน้ำมันเชื้อเพลิงมากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับแผนการพัฒนาประเทศ การลดปัญหาการจราจรทางบก  ลดมลภาวะ และเพื่อความสะดวกสบายของประชาชน ด้วยการเชื่อมต่อการเดินทางด้วยยานยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบทั้งระบบ เรือ-รถ-ราง อาทิ เชื่อมกับระบบรถไฟฟ้า BTS/MRT และรถโดยสารสาธารณะตามนโยบายการคมนาคมไร้รอยต่อ (Seamless Transportation)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *