อาทิตย์. พ.ย. 24th, 2024

ทีเส็บ ลุยนำร่องสร้าง Thai MICE Connect

สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ เดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ไทย ๔.๐ อย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง ด้วยการสร้างอีมาร์เก็ตเพลสธุรกิจไมซ์ (E-MICE Marketplace) ลุยนำร่องภูมิภาคใต้ ผ่านภูเก็ตไมซ์ซิตี้ พร้อมดึงกลุ่มจังหวัดทั้งฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทยสร้างโอกาสทางธุรกิจ ความเท่าเทียมทางการตลาดไมซ์ ด้วยการสร้างระบบฐานข้อมูลไมซ์ไทยเชื่อมโยงการค้าในอุตสาหกรรมไมซ์ทั้งระบบ เชื่อมั่นหนุนไทยสู่เบอร์หนึ่งจุดหมายปลายทางไมซ์ในใจนักท่องเที่ยวเชิงธุรกิจไมซ์ทั่วโลก พร้อมดัน GDP กลุ่มจังหวัดอันดามันโต ๕ เท่าใน ๒๐ ปี

นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการ สายงานพัฒนาและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชนหรือทีเส็บ กล่าวว่า ธุรกิจไมซ์เป็นเวทีหลักเชื่อมโยงหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งการท่องเที่ยว โรงแรมที่พัก อุตสาหกรรมการบริการและโลจิสติกส์ทั้งระบบ  ทีเส็บในฐานะหน่วยงานรัฐมีบทบาทส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ภายใต้วิสัยทัศน์การทำงานตามนโยบายรัฐบาล ๓ เป้าหมายหลัก คือ การสร้างรายได้ กระจายรายได้สู่ภูมิภาค และการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ด้วยนวัตกรรม เพื่อพัฒนาธุรกิจไมซ์ไทยอย่างเท่าเทียมและยั่งยืน

ทีเส็บเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาข้อมูลไมซ์ระดับชาติ ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศทั้งระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำโดยใช้อุตสาหกรรมไมซ์นำ ด้วยการสร้างศูนย์กลางข้อมูลไมซ์ระดับชาติที่จะเป็นประโยชน์กับทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทีเส็บผนึกกำลัง กับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนกว่า ๑๐ หน่วยงานเดินหน้ายกระดับธุรกิจไมซ์ผ่านนวัตกรรมข้อมูล ริเริ่มโครงการจัดเก็บข้อมูลผู้ประกอบการ สินค้าบริการของอุตสาหกรรมไมซ์ระดับภูมิภาค ภายใต้ชื่อ  “Thai MICE Connect: E-MICE Marketplace” หรือแพลทฟอร์มรวบรวมฐานข้อมูลสินค้าบริการในทุกรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์ทั่วประเทศที่ชัดเจน ถูกต้อง  แม่นยำ ครบถ้วน ด้วยการพัฒนาให้เป็น E-Marketplace ของธุรกิจไมซ์ที่สมบูรณ์แบบที่สุดครั้งแรกของไทย

โครงการ “Thai MICE Connect” หรือโครงการจัดเก็บข้อมูลผู้ประกอบการ สินค้า บริการของอุตสาหกรรมไมซ์ระดับภูมิภาค แบ่งเป็น ๒ เฟส คือ เฟสแรกในปีงบประมาณ ๒๕๖๒ ประกอบด้วย ๓ พื้นที่หลัก ได้แก่ ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเฟสสองในปีงบประมาณ ๒๕๖๓ ประกอบด้วย ๒ พื้นที่ คือ ภาคเหนือและภาคตะวันออก สำหรับภูมิภาคใต้ โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ถือเป็น เมืองต้นแบบในกลุ่มจังหวัดฝั่งอันดามัน อันประกอบด้วย จังหวัดภูเก็ต จังหวัดกระบี่ จังหวัดพังงา จังหวัดระนองและ จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นกลุ่มจังหวัดสำคัญ ที่มีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไมซ์กระจายอยู่เป็นจำนวนมาก

จังหวัดภูเก็ตยังเป็นเมืองที่ได้รับการรับรองจากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESO) ให้เป็นเมืองสร้างสรรค์วิทยาการด้านอาหาร Creative City Gastronomy แห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน โดยรัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ให้จังหวัดภูเก็ตเป็นเป้าหมายของการพัฒนาในระยะยาว ประกอบด้วย ๔ได้แก่ Marina Hub เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลของภูมิภาค,Medical Hub เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ,Mice City เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางของการประชุมและจัดนิทรรศการนานาชาติ,Manpower Development เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาบุคลากร ด้านการท่องเที่ยว และเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกอย่างแท้จริง  และ ๓ ได้แก่Sport Tourism เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงกีฬา,Smart City เพื่อพัฒนาภูเก็ตไปสู่ความทันสมัย เป็นศูนย์กลางเมือง Digital และรองรับการเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกอย่างแท้จริง และ Sustainable Development เป็นการพัฒนาโดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างสมดุลในทุกด้าน

โดยได้รับงบประมาณการลงทุนเมกะโปรเจ็คจากรัฐบาลเป็นจำนวนถึง ๑.๒๕ แสนล้านบาท โดยทีเส็บได้มีการวางยุทธศาสตร์ให้ภูเก็ตเป็นเมืองไมซ์ หรือ ไมซ์ซิตี้ ด้วยการขยายการลงทุนสร้างความเจริญและรองรับการเติบโตของภูมิภาค จังหวัดภูเก็ตยังได้มีแผนการสร้างสนามบินภูเก็ตแห่งที่สองที่คาดว่าจะสามารถให้บริการภายในปี ๒๕๗๐  โครงการรถไฟฟ้ารางเบา เชื่อมต่อท่าอากาศยานแห่งที่ ๒  ตัวเมืองและแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล เพื่อรองรับการขยายตัวของนักเดินทางท่องเที่ยวในกลุ่มธุรกิจอีกด้วย

ซึ่งคาดว่าจะสามารถพร้อม ให้บริการได้ในปี ๒๕๖๘  แผนการขยายเส้นทางหลักจากสนามบิน เข้าสู่ตัวเมืองภูเก็ต  โครงการทางด่วนกระทู้– ป่าตอง เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการเดินทาง รองรับระบบขนส่งให้ครอบคลุมขึ้น ตลอดจนการเพิ่มความถี่รถเมล์สายเดิม และเพิ่มรถเมล์สายใหม่ รองรับการเข้าถึงสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญใจกลางเมืองมากยิ่งขึ้น รวมถึงโครงการพัฒนาท่าเรือสำราญ และท่าเรือขนาดใหญ่ ประกอบกับในตลอด ๓ ปีที่ผ่านมาเอกชนมีแผนการลงทุนสร้างศูนย์ประชุมขนาดใหญ่  ๔ แห่ง ตลอดจนมีการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนหอประชุมในพื้นที่ภูเก็ตมีตัวเลขการลงทุนเพิ่มขึ้น ๑๕% ต่อปี ซึ่งคาดว่า จะสามารถรองรับการจัดประชุมระดับสากลได้ ถึง ๓๐,๐๐๐ คนต่อวัน โดยมุ่งสู่การเป็นไมซ์ซิตี้ของภูมิภาคเอเชีย

โครงการ “Thai MICE Connect” จะเป็นแพลทฟอร์มนวัตกรรมใหม่สำหรับวงการไมซ์ไทยในการยกระดับพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ไทยให้สามารถแข่งขันได้บนแพลทฟอร์มการตลาดโลกใหม่ซึ่งผู้ประกอบการต้องมีความพร้อมเรียนรู้และพัฒนา สร้างความน่าสนใจให้กับสินค้าและบริการเพื่อพร้อมเป็นตัวเลือกในแพลทฟอร์มรูปแบบ E- MICE Marketplace ที่จะมีสนับสนุนแคมเปญ คลิ๊กติดใจ” ให้แก่ผู้ประกอบการขายที่เข้าร่วมลงทะเบียนในระบบและมีการอัพเดตข้อมูลสินค้าและบริการ ทั้งรูปภาพ ข้อความ โปรโมชั่น เพื่อให้สินค้าบริการเป็นที่น่าสนใจ โดยมีสิทธิประโยชน์มากมายให้ผู้ประกอบการขายเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการในโครงการฝึกฝนพัฒนาธุรกิจต่อยอดการขายและพบปะผู้ประกอบการซื้อให้มากขึ้น ในขณะเดียวกัน ทีเส็บได้พัฒนาการฝึกอบรมให้ความรู้ในรูปแบบ Training Workshop & Public Hearing ในการเสริมอาวุธความรู้ ด้านการจัดเก็บข้อมูล และการทำการตลาดดิจิตัล โดยผู้ร่วมอบรมสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อนำไปดำเนินการพัฒนาต่อยอดระบบให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บริการได้อย่างแท้จริง โดยโครงการ Thai  MICE Connect: E-MICE Marketplace  เตรียมเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 ตุลาคมนี้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *