อาทิตย์. พ.ย. 24th, 2024

FedEx เสริมทัพรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เดินหน้าบรรลุเป้าหมายสู่การขนส่งไร้มลพิษ

เฟดเอ็กซ์ คอร์ปอเรชั่น (Federal Express Corporation) หนึ่งในบริษัทผู้ให้บริการขนส่งสินค้าด่วนที่ใหญ่ที่สุดในโลก พร้อมผลักดันเป้าหมายความสำเร็จในการใช้รถยนต์ไฟฟ้าปลอดมลพิษ ประกาศส่งรถยนต์ไฟฟ้า  จำนวน 4 คัน เข้ามาปฏิบัติงานในประเทศไทย โดยการดำเนินการครั้งนี้ เป็นการต่อยอดความสำเร็จจากการนำรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาปฏิบัติงานครั้งแรกในปี 2565 ซึ่งนับเป็นหนึ่งในความพยายามของบริษัทฯ ในการนำรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาใช้สำหรับการบริการรับ-ส่งพัสดุ (PUD) ทั้งหมดภายในปี 2583

รถยนต์ไฟฟ้าชุดใหม่จะมุ่งเน้นไปที่การบริการรับ-ส่งพัสดุในกรุงเทพฯ และปทุมธานี ครอบคลุมพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่นเป็นหลัก ได้แก่ ถนนแจ้งวัฒนะ, ติวานนท์, ลาดพร้าว, รามอินทรา, งามวงศ์วาน, ประเสริฐมนูกิจ, สุคนธสวัสดิ์, ธรรมศาสตร์ และ เชียงราก ด้วยระยะวิ่งสูงสุด 275 กิโลเมตรต่อการชาร์จเต็ม 1 ครั้ง เพื่อให้การขนส่งถึงมือผู้รับปลายทาง (Last-mile delivery) เป็นไปอย่างง่ายดายและสะดวกยิ่งขึ้น

ตั้งแต่เริ่มให้บริการจนถึงเดือนสิงหาคม ปี 2567 ที่ผ่านมา รถยนต์ไฟฟ้าที่มีอยู่เดิมของ เฟดเอ็กซ์ ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ลงกว่า 153.06 เมตริกตัน และคาดว่าจะลดลงอีกถึง 27.51 เมตริกตันต่อปี หลังการส่งรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 4 คันเข้าให้บริการในประเทศไทย โดยคำนวณจากระยะวิ่งตามเส้นทางขนส่งเมื่อเทียบกับการใช้รถยนต์ดีเซลตามปกติ

“เฟดเอ็กซ์ ตอกย้ำเป้าหมายด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ เดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนทั่วโลกภายในปี 2583 ซึ่งการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าในปีที่ผ่านมานี้ นับเป็นก้าวสำคัญในแผนการเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเสริมสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับคนรุ่นต่อไป การเติบโตอย่างรวดเร็วของกลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีส่วนช่วยผลักดันให้เราปฏิบัติงานโดยคำนึงถึงความยั่งยืนมากขึ้น เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการดำเนินการขนส่งด้วยรถยนต์ไฟฟ้า จะช่วยสร้างผลประโยชน์ระยะยาวในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พร้อมทั้งส่งมอบการบริการที่ดีและยั่งยืนมากกว่าที่เคยให้แก่ลูกค้าชาวไทยของเราต่อไป” นายศศธร ภาสภิญโญ กรรมการผู้จัดการ เฟดเอ็กซ์ ประเทศไทย กล่าว

นอกจากนี้ เฟดเอ็กซ์ ต่อยอดวิสัยทัศน์รัฐบาลไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนและเพิ่มระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ควบคู่กับเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ในปี 2608[1] ทางบริษัทฯ จึงได้ริเริ่มโครงการเพื่อยกระดับการปฏิบัติงาน อาทิ การใช้รถยกไฟฟ้าภายในศูนย์บริการ การติดตั้งไฟ LED ประหยัดพลังงาน และการใช้เข็มขัดรัดสินค้าแทนการรัดห่อด้วยฟิล์ม และในปี 2566 เฟดเอ็กซ์ ประเทศไทย ร่วมมือกับ บริษัท เอ็น15 เทคโนโลยี (N15 Technology) ผ่านโครงการขยะกำพร้าสัญจร (Orphan Waste) นำขยะรีไซเคิลจากการขนส่งกว่า 3,500 กิโลกรัม ได้แก่ พลาสติกห่อพัสดุ สติ๊กเกอร์ติดฉลาก และแกนกระดาษ มาคัดแยกและแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงขยะ (Refuse-Derived Fuel: RDF) ด้วยเตาเผาปูนซีเมนต์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการบริหารจัดการขยะเพื่อลดการส่งขยะไปยังหลุมฝังกลบ อีกทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างก๊าซมีเทน

เฟดเอ็กซ์ ยังได้เปิดตัวเครื่องมือการติดตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (FedEx® Sustainability Insights) ในประเทศไทย โดยลูกค้าสามารถตรวจสอบข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดส่งพัสดุที่ผ่านมากับ เฟดเอ็กซ์ ได้ในบัญชีของตน พร้อมนำข้อมูลดังกล่าวมาเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจสำหรับตัวเลือกการจัดส่งครั้งถัดไป เพื่อช่วยลดผลกระทบที่อาจก่อให้เกิดกับสิ่งแวดล้อม

[1] ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศฉบับปรับปรุง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *