เสาร์. พ.ย. 23rd, 2024

ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชาครั้งที่ 22 ร่วมน้อมรำลึกถึงพระผู้ทรงเป็นพลังแห่งแผ่นดิน

จากนี้เราจะเดินไปอย่างไร ท่ามกลางวิกฤติรายล้อมรอบด้านทั้งในเรื่องของสภาวะแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ การแย่งชิงอำนาจจากมหาอำนาจของโลก หากเราไม่หันกลับมา “หยุดคิด และตั้งสติ” เพื่อช่วยกันปฏิบัติตนร่วมมือแก้ไขเพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับตนเอง สังคม และประเทศชาติ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์ ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์นานที่สุดในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดรัชสมัยพระองค์มีพระราชกรณียกิจมากมาย เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของปวงชนชาวไทยที่ได้ประจักษ์แจ้งในพระราชกรณียกิจนานัปการที่พระองค์ทรงตรากตรำพระวรกายเสด็จพระราชดำเนินไปทั่วประเทศ แม้ในถิ่นธุรกันดารห่างไกลก็มิทรงย่อท้อต่อความลำบาก เพื่อทรงขจัดปัดเป่าความทุกข์ยากของราษฎร เพื่อความอยู่ดีกินดีมีคุณภาพชีวิตที่ดี  มีโครงการในพระราชดำริเกิดขึ้นหลายพันโครงการ รวมทั้งแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ได้ทรงพระราชทานให้พสกนิกรนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาตนเองและครอบครัวให้มีภูมิคุ้มกันที่มั่นคงในการดำเนินชีวิต

“ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ที่พระองค์ทรงวางรากฐานไว้ให้ประชาชนคนไทยเพื่อเป็นหลักคิดและแนวทางดำเนินชีวิตอันเป็นหนทางสู่การแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน ด้วยแนวคิดเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่  3 ขั้น จากสร้างภูมิคุ้มกัน การสร้างความร่วมมือ ต่อเนื่องไปจนถึงการพัฒนาเพื่อความเจริญรุ่งเรือง เป็นแนวคิดที่สามารถสร้างเศรษฐีอย่างยั่งยืน ด้วยการรู้จักนำมาใช้ด้วยความเข้าใจ เราสามารถที่จะพัฒนาตนเอง ชุมชน และประเทศชาติให้แข็งแกร่งสามารถแข่งขันได้ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปยังจุดที่เราทุกคนไม่สามารถคาดเดาได้อีกต่อไป ดังนั้นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและควรต้องนำมาปฏิบัติในวิถีชีวิต

เดือนตุลาคม เป็นเดือนแห่งประวัติศาสตร์ ที่มีเหตุการณ์สำคัญหลายเรื่องเกิดขึ้น ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ขอเทิดพระเกียรติน้อมรำลึกถึงพระอัจฉริยภาพและความสามารถพระองค์ท่าน “ภูมิพล กำลังของแผ่นดิน” พร้อมทั้งน้อมนำการเดินตามรอยพระราชา ในสิ่งที่พระองค์ท่านได้วางแนวทางไว้ ในการ “อนุรักษ์ ดิน น้ำ ลม ไฟ” ด้วยการนำครูอาจารย์ ลงพื้นที่ทำกิจกรรมครั้งที่ 22 ณ ศูนย์ปฏิบัติการจัดการที่ดิน ชัยพัฒนา – แม่ฟ้าหลวง และโครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่า อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงคุณูปการ ของพระองค์ท่านที่ได้ทรงริเริ่มแก้ไขปัญหาการจัดการเรื่องน้ำและป่า อ่างเก็บน้ำแห่งแรกที่พระองค์ท่านทรงดำริสร้างขึ้นในปี พศ. 2505 เมื่อทรงเห็นความยากลำบากของชาวบ้านเขาเต่าที่ขาดแคลนน้ำจืดในการอุปโภคบริโภคและปัญหาน้ำทะเลหนุนท่วมพืชผักผลไม้ อีกทั้งการถอดบทเรียนความสำเร็จของโครงการในพระราชดำริ โมเดลความสำเร็จจากภูผา สู่มหานที การจัดการที่ดินจากภูผาแม่ฟ้าหลวง สู่ผืนแผ่นดินที่ราบ  การร่วมกิจกรรมการบวชป่า เพื่อการดูแลรักษาต้นไม้ให้คงความอุดมสมบูรณ์ของป่าธรรมชาติ รักษาป่าไม้ที่เป็นต้นน้ำลำธาร ลดการทำลายและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพิ่มต้นไม้สีเขียวดักจับคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก สร้างสำนึกให้ชุมชนในการดูแลรักษาธรรมชาติและช่วยกันสร้างสังคมสีเขียวให้โลก

พร้อมร่วมกิจกรรม Workshop ถอดรหัสนวัตกรรมศาสตร์พระราชา เรียนรู้นวัตกรรมสื่อการสอนสำหรับเยาวชนในศตวรรษที่ 21 Interactive Board Game จากวิทยากร อาจารย์ อดุลย์ ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย และเข้าร่วมฟังบรรยายจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ รศ. นพ. สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)  ดร. ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมธรรมดีร่วมกัน ปันสุขสู่น้อง ทำการส่งมอบอาคารสนามเด็กเล่น ห้องน้ำ อุปกรณ์การเรียน และอุปกรณ์กีฬาให้กับโรงเรียนบ้านทุ่งขาม จ.เพชรบุรี นับเป็นการสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันในชุมชน

ซึ่งการเรียนรู้ทั้งหมดนี้ เป็นแนวทางที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร   ได้ทรงเล็งเห็นและวางแนวทางให้พสกนิกร   สิ่งที่พระองค์ทรงคิดและทรงกระทำมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 70 ปีแห่งการครองราชย์และทรงงานนั้น เป็นต้นแบบและสอดคล้องกับสิ่งที่โลกกำลังมุ่งให้ความสำคัญคือเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษที่มีกรอบของการพัฒนาในมิติของ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีความเชื่อมโยงกัน เป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGs) ซึ่งเป็นทิศทางการพัฒนาเพื่อให้บรรลุภายในปี 2030

นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เนื่องในวาระวันคล้ายวันสวรรคต ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ในวันที่ 13 ตุลาคม ทิพยประกันภัยขอน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ได้ทรงเมตตาสร้างคุณูปการอันเป็นประโยชน์ต่อปวงชนชาวไทยเป็นล้นพ้น ท่านทรงเป็น “พ่อ” ของแผ่นดิน และเป็นที่รักยิ่งของพสกนิกร ทิพยประกันภัยมีความเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์  พร้อมสนับสนุนให้ชุมชน สังคม ได้เกิดความเข้าใจและน้อมนำเอาในเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระองค์ท่านมาใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อสร้างให้เกิดภูมิคุ้มกันและความยั่งยืนสร้างความแข็งแรงให้กับสังคมและประเทศชาติ”

ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี กล่าวว่า “จะมีใครที่สามารถทำโครงการเพื่อประโยชน์ต่อแผ่นดินได้ ถึง 4,800 กว่าโครงการ เหมือนในหลวงรัชกาลที่ ๙ ท่านทรงมีคุณูปการให้กับคนไทยและลูกหลานได้อยู่อย่างผาสุก พระราชกรณียกิจของท่านเป็นแบบอย่างให้เราได้เดินตามรอยพระราชา คนไทยทุกคนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์  พร้อมช่วยกันทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการดูแลรักษาโลกใบนี้ และปฏิบัติตนตามหลักคำสอน ทำความดีและประพฤติตนอยู่ในศีลธรรม ตามครรลองที่พระองค์ท่าน “ทรงทำให้ดู” ตลอดมา พระองค์ยังคงอยู่ในใจของทุกชีวิตในผืนแผ่นดินไทยตราบนิจนิรันดร์”

ทั้งนี้ กิจกรรมทิพย สืบสาน รักษา ต่อยอดนวัตกรรมศาสตร์พระราชา ได้จัดกิจกรรมตามรอยพระราชาเพื่อสืบสานต่อยอดให้กับครูอาจารย์ได้ลงพื้นที่ในโครงการพระราชดำริมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้และลงมือทำ โดยมีความคาดหวังเพื่อการขยายผลไปยังกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้ได้รับรู้และเข้าใจในสิ่งที่พระองค์ทรงทำ และเนื่องในวาระพิเศษนี้จึงได้จัดพิธีน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 13 ตุลาคม ณ โครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่า อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

รศ. นพ. สุริยเดว ทรีปาตี  ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม กล่าวว่า “ศูนย์คุณธรรมขอน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างของคุณธรรม ที่ได้ทรงฝากไว้ให้คนรุ่นหลังได้ปฏิบัติเพื่อให้เป็นวิถีชีวิต ให้สามารถเริ่มได้จากตนเอง ในบริบทของคุณธรรม 5 ประการ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และกตัญญู ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่สามารถสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงพฤติกรรม เพื่อเป้าหมายคือประชาชนมีความสุขบนพื้นฐานของความพอเพียงและมีคุณธรรม

โครงการ ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา  จัดโดย ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักโครงการและจัดการความรู้ (OKMD)  มูลนิธิธรรมดี  กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย คุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ และบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) สำหรับผู้บริหารสถานศึกษา  ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถอดรหัสพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ในการทรงงานเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของพสกนิกรให้มีความสุขและมีความเป็นอยู่ที่ดี อีกทั้งยังเพื่อสนองตามพระปฐมบรมราชโองการ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว “เราจะสืบสาน รักษา ต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *