ศุกร์. พ.ย. 22nd, 2024

ทิพยประกันภัย เชื่อมโยงกิจกรรมพัฒนาสังคม ด้วย “พลังบวร” บ้าน –  วัด –  โรงเรียน

 บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) นำคณะครู อาจารย์ที่ได้รับการคัดเลือกจากทั่วประเทศลงพื้นที่ทำกิจกรรม ณ โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณรอบวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการป่าสิริเจริญวรรษ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชลบุรี ทำกิจกรรมการพัฒนาสังคมแบบองค์รวมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถอดรหัสพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ในการทรงงานพัฒนาชุมชน ด้วย “พลังบวร” บ้าน – วัด –  โรงเรียน  เน้นการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม เพื่อช่วยกันต่อยอดนำความรู้ไปพัฒนาชุมชนให้มีความแข็งแรงอย่างยั่งยืน  ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม หลังวิกฤติโควิด -19

โครงการนี้ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักโครงการและจัดการความรู้ (OKMD) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มูลนิธิธรรมดี สมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย ร่วมจัดโครงการ “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 17” สำหรับครู อาจารย์ ที่ได้รับการคัดเลือกจากทั่วประเทศ ซึ่งจัดมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 เพื่อสนองตามพระปฐมบรมราชโองการ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว “เราจะสืบสาน รักษา ต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “โลกหลังโควิด 19 ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ทุกคนต้องปรับตัว เพื่อฟื้นฟู ตนเอง และสังคมให้มีความแข็งแรงมั่นคงกลับสู่สมดุลและช่วยกันสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตเหมือนเดิม นับเป็นความโชคดีของคนไทย ที่เรามี  “พลัง บ-ว-ร” บ้าน วัด โรงเรียน บทบาทหน้าที่ของ 3 สถาบันหลัก ที่เป็นกลไกการขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาโดยภูมิปัญญาของคนไทย ที่มีความสอดคล้องเกี่ยวโยงกันทั้งด้านชุมชน วัฒนธรรม  ประเพณี  การศึกษา สิ่งแวดล้อม  ซึ่งทิพยประกันภัย ห่วงใยทุกชีวิตในสังคม กับโครงการ ทิพยทำความดีไม่มีสิ้นสุด ได้ดำเนินกิจกรรมช่วยเหลือสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามรอยของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๙ จะช่วยสร้างพื้นฐานการดำรงชีวิตให้เกิดความมั่นคงและเติบโตอย่างยั่งยืนได้”

ครู อาจารย์ ที่เข้าร่วม กิจกรรม ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 17 จะได้ร่วมทำกิจกรรมการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวม ที่ให้ความสำคัญในความเชื่อมโยงของ ชุมชน วัฒนธรรม ประเพณี การศึกษา และสิ่งแวดล้อม อาทิ การทำกิจกรรม ณ วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอกชนิดวรมหาวิหาร สร้างโดยสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 ที่มีพระบรมธาตุเจดีย์มหาจักรีพิพัฒน์ เป็นการสร้างน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและราชวงศ์จักรี  และพระพุทธปฏิมาประธานประจำอุโบสถ ได้รับการถวายพระนามว่า “สมเด็จพระพุทธญาณนเรศวร์” สร้างน้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แสดงถึงความผูกพันอย่างแน่นแฟ้นระหว่างสถาบันพระพุทธศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่สืบเนื่องยาวนานนับพันปี วัดนี้อยู่ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก และได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระกรุณานานัปการจากองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ที่ได้ทรงอุปถัมภ์ในการก่อสร้างตลอดมา และทรงรับเป็นวัดในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นวัดในพระองค์อีกด้วย

นอกจากนี้ มีการทำกิจกรรม ณ โครงการป่าสิริเจริญวรรษอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ การปั้นและโยน EM Ball เพื่อบำบัดรักษาแหล่งน้ำให้มีความสมบูรณ์ต่อการเจริญเติบโตของพืชและสัตว์น้ำ การสร้างฝายชะลอและเก็บกักน้ำ เพื่อประโยชน์ในการทำการเกษตรและชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนรอบ ๆโครงการและใกล้เคียง การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเป็นพลังที่แข็งแรง เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สำคัญของประเทศ “พลังบวร” จึงเป็นหลักที่สอนให้คนรักษาความสมดุลของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้เกิดการพึ่งพาตนเองช่วยสังคมและกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ ช่วยให้คนไทยได้ตระหนักถึงคุณค่า และมีความภาคภูมิใจในความเป็นไท มีความมั่นคงในวัฒนธรรมที่มีวิวัฒนาการต่อเนื่องยาวนาน โดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมใจการสืบสานความเป็นไท

ทั้งนี้ รศ. น.พ. สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวเสริมว่า โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณรอบวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการป่าสิริเจริญวรรษ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชลบุรี  เป็นหนึ่งในโครงการ ที่ได้ถูกคัดเลือกอยู่ในหนังสือเดินทางตามรอยพระราชา ที่ศูนย์คุณธรรม ร่วมกับองค์กรภาคี ได้จัดทำขึ้น เป็นการสรุป 9 เส้นทาง 81 แหล่งเรียนรู้ศาสตร์พระราชา สำหรับเด็กเยาวชนและผู้ที่สนใจได้นำไปศึกษาให้เกิดประโยชน์จากการเรียนรู้ พร้อมทั้งสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ดังที่  ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ได้กล่าวไว้ว่า “หากเยาวชนได้เรียนรู้ศาสตร์ของพระราชา พระองค์จะทรงอยู่ในหัวใจของพวกเราตลอดไป” 

ด้าน ดร. ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี กล่าวว่า “ความไม่เหมือนเดิมของโลกใบนี้ ได้ช่วยตอกย้ำให้เราทุกคนได้ตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ทรงพระราชกรณีกิจนานับปการ เพื่อให้ราษฎรได้มีความเป็นอยู่อย่างผาสุก   ดังนั้น การได้มาศึกษาลงพื้นที่เพื่อสร้างประสบการณ์ การปลูกป่าในใจคน และน้อมนำเอาศาสตร์พระราชา ไปปรับใช้กับการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป จะเป็นภูมิคุ้มกันให้เราทุกคนสามารถอยู่รอดได้ในทุกสถานการณ์วิกฤติ และเติบโตได้ในระยะยาวอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเป็นการสนองตามพระปฐมบรมราชโองการของในหลวงรัชกาลที่ ๑๐  “เราจะสืบสาน รักษา ต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”  

พร้อมทิ้งท้ายว่า เราหลงลืมอะไรไปหรือเปล่า เราลืมไปแล้วว่า คนไทยโชคดีแค่ไหน ที่มีพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ และทรงรักคนไทยมากที่สุด ดร.ดนัย สรุป

นอกจากการลงพื้นที่ร่วมกันทำกิจกรรมตามฐานต่าง ๆ แล้ว คณะครู อาจารย์ ยังเข้าร่วมการถอดบทเรียน โดย  อาจารย์อดุลย์ ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่า AFSประเทศไทย ให้เกียรติเป็นวิทยากร จัดกิจกรรม Interactive Board Workshop ตามรอยนวัตกรรมศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนระดับสากล และ “The King’s Journey: Learn English an Example of an Invention” ซึ่งคณะครูอาจารย์สามารถนำนวัตกรรมการเรียนรู้ไปต่อยอดการเรียนการสอนสำหรับเยาวชนต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *