อาทิตย์. พ.ย. 24th, 2024

ฟอร์ด เปิด ‘เมกเกอร์ สเปซ’ พื้นที่สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่โรงงานเอฟทีเอ็ม

ด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาการดำเนินงานให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ พร้อมทั้งส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ โรงงานฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ประเทศไทย หรือ เอฟทีเอ็ม ได้ปรับโฉมอาคารสำนักงานของฝ่ายวิศวกรรมเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์นวัตกรรมที่เรียกว่า ‘เมกเกอร์ สเปซ’ เพื่อผลักดันให้พนักงานได้ร่วมกันนำเสนอไอเดียสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการออกแบบและพัฒนาการผลิตรถยนต์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

โรงงานเอฟทีเอ็มมีวิศวกรผู้เชี่ยวชาญฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์กว่า 52 คน ที่มีหน้าที่ดูแลการผลิตรถรุ่นใหม่ที่จำหน่ายในประเทศไทยและส่งออกไปยังต่างประเทศ และยังทำงานอย่างใกล้ชิดกับวิศวกรฝ่ายผลิตในการพัฒนาคุณภาพ สมรรถนะ และเทคโนโลยีของรถยนต์ให้ดียิ่งขึ้นอยู่เสมอ ด้วยการนำนวัตกรรมมาเป็นเครื่องมือในการผลักดันทีมงานให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

‘เมกเกอร์ สเปซ’ ที่โรงงานเอฟทีเอ็ม ประกอบไปด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีอันทันสมัยที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการสร้างสรรค์ผลงาน ทั้งเครื่องพิมพ์สามมิติ พื้นที่เสนอไอเดียสร้างสรรค์ พื้นที่ระดมความคิดในการหาไอเดียดี ๆ อุปกรณ์เชื่อมต่อแบบอินเตอร์แอคทีฟที่ช่วยให้ทีมวิศวกรไทยสามารถสื่อสารกับทีมวิศกรจากทั่วโลกได้อย่างง่ายดาย รวมไปถึงพื้นที่พักผ่อนที่พนักงานสามารถเข้ามาผ่อนคลายได้

มร. อัมมัด บาติ ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โรงงานฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ประเทศไทย กล่าวว่า “เมกเกอร์ สเปซ ช่วยผลักดันวัฒนธรรมการทำงานแบบผู้ประกอบการภายในองค์กร โดยทีมงานของเราสามารถมองเห็นและเข้าใจได้ว่าความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมของพวกเขามีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพของรถยนต์ที่เราผลิตได้ พนักงานทุกคนสามารถนำเสนอไอเดียได้อย่างอิสระ และเราจะช่วยกันคิดและทำไอเดียนั้นให้เป็นรูปธรรมขึ้นมา เพื่อให้งานพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเราประสบความสำเร็จ”

‘เมกเกอร์ สเปซ’ มีบทบาทสำคัญในการต่อยอดความเชี่ยวชาญของทีมออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อผลักดันให้รถยนต์ฟอร์ดเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีในการขับขี่ที่ทันสมัย พร้อมทั้งช่วยให้เกิดการพัฒนาในกระบวนการผลิตและประกอบรถยนต์ให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าฟอร์ดในประเทศไทยและอีกกว่า 180 ประเทศทั่วโลก

“เสียงตอบรับจากลูกค้ามีความหมายกับเรามาก เรารับฟังและพยายามมองหาโอกาสที่จะพัฒนารถยนต์ของเราให้ดีขึ้นเสมอ ซึ่งในอนาคต ข้อมูลที่เราได้รับจากการเชื่อมต่อข้อมูลในรถยนต์จะช่วยให้เราเข้าใจการใช้งานของลูกค้าได้ดีมากยิ่งขึ้น” มร. อัมมัด กล่าวเสริม

‘เมกเกอร์ สเปซ’ ช่วยให้ทีมงานสามารถกำหนดไอเดียในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างชิ้นส่วนต้นแบบ และร่วมมือกับฝ่ายผลิตในการประกอบและติดตั้งชิ้นส่วนตัวอย่างลงในรถรุ่นปัจจุบัน โดยสามารถทดลองประกอบและพัฒนาคุณภาพของชิ้นส่วนนั้น ๆ ให้ดียิ่งขึ้นได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ เพื่อให้ตรงตามความต้องการของลูกค้ามากที่สุด

นอกจากจะปรับโฉมออฟฟิศสี่เหลี่ยมธรรมดา ให้กลายมาเป็นพื้นที่ทำงานที่ให้ความคล่องตัว มีสีสัน และเปิดกว้างให้ทีมงานสามารถคิดไอเดียใหม่ ๆ ออกมานำเสนอแล้ว ‘เมกเกอร์ สเปซ’ ยังเปิดโอกาสให้ทีมวิศวกรของฟอร์ดได้ก้าวข้ามขีดจำกัดเดิม ๆ ด้วยการพัฒนาความเชี่ยวชาญและเพิ่มองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในการออกแบบและพัฒนารถยนต์

ผลงานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งของทีม คือ การร่วมมือกับทีมวิศวกรจากฟอร์ด ออสเตรเลียในการออกแบบแผ่นเปิด-ปิดฝากระบะท้ายควบคุมด้วยไฟฟ้า (Power Roller Shutter) เป็นครั้งแรกของฟอร์ด ที่ช่วยให้เจ้าของรถกระบะฟอร์ดหมดกังวลกับสภาพอากาศ เมื่อวางสัมภาระไว้ในกระบะง่าย ๆ เพียงแค่กดปุ่มเท่านั้น

นอกจากนี้ ในช่วงแรกของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 วิศวกรฟอร์ดได้นำความรู้และความชำนาญด้านการออกแบบวิศวกรรมยานยนต์มาใช้สร้างสรรค์ผลงานเพื่อสังคม เพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นแนวหน้าในการต่อสู้กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค

“ทีมงานได้ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพัฒนาและผลิตต้นแบบเครื่องช่วยหายใจต้นทุนต่ำเพื่อใช้กับผู้ป่วยโรคโควิด-19 และยังได้ร่วมกับนักศึกษาจากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ออกแบบและพัฒนาหุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่ส่งเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับทีมแพทย์และพยาบาล ซึ่งหุ่นยนต์ดังกล่าวช่วยลดความเสี่ยงในการสัมผัสขณะที่แพทย์และพยาบาลกำลังปฏิบัติหน้าที่ โดยโครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการวอร์ดอัจฉริยะแห่งแรกของประเทศไทยที่โรงพยาบาลเจริญกรุง ประชารักษ์

การปรับทุกด้านให้ทันสมัยและการนำเสนอนวัตกรรมใหม่ ๆ เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการพัฒนาธุรกิจของฟอร์ด เราเล็งเห็นความสำคัญในการสร้างพื้นที่ให้ทีมงานได้คิดค้นและร่วมมือกันทำงาน จึงได้ริเริ่ม ‘เมกเกอร์ สเปซ’ ขึ้นมา เราให้ความสำคัญกับพนักงานของเราทุกคน และ ‘เมกเกอร์ สเปซ’ จะมีส่วนช่วยผลักดันให้พนักงานของฟอร์ดได้มีส่วนร่วมในการคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมมาผลักดันให้ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด” มร. อัมมัด กล่าวปิดท้าย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *