เสาร์. พ.ย. 23rd, 2024

บางกอกแอร์เวย์ส (BA) ประกาศผลการดำเนินงานปี 2563

บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส (BA) ประกาศผลการดำเนินงานประจำปี 2563 บริษัทฯ มีรายได้รวม 10,216.3 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 64.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 เนื่องจากบริษัทฯ ได้ปรับแผนการปฏิบัติการบิน ให้สอดคล้องกับมาตรการจำกัดการเดินทาง  ตามนโยบายภาครัฐ และประกาศของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) รวมถึงปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสารที่ลดลง จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)  

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลประกอบการของบริษัทฯ ในปี 2563 ว่า “บริษัทฯ มีรายได้รวม 10,216.3 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 64.2  ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้ของธุรกิจสายการบินที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 70.4, ธุรกิจสนามบิน ปรับตัวลดลง  67.6 และธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง ลดลงร้อยละ 57.5 ทำให้บริษัทฯ มีผลขาดทุนสุทธิเท่ากับ 5,327.8 ล้านบาท โดยเป็นผลขาดทุนส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ เท่ากับ 5,283.2 ล้านบาท และมีผลขาดทุนต่อหุ้นเท่ากับ 2.56 บาท”

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ปรับแผนการปฏิบัติการบิน ให้สอดคล้องกับมาตรการจำกัดการเดินทาง และปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสาร โดยได้ทยอยหยุดทำการบินในบางเส้นทางตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2563 จนกระทั่งประกาศหยุดทำการบินในทุกเส้นทางชั่วคราว ระหว่างวันที่ 6 เมษายน -14 พฤษภาคม 2563 และเริ่มกลับมาให้บริการเส้นทางบินภายในประเทศอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นมา ในเส้นทางกรุงเทพฯ – สมุยเป็นเส้นทางแรก และทยอยปฏิบัติการบินเส้นทางภายในประเทศเป็น 10 เส้นทางในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 ได้แก่ กรุงเทพฯ – สมุย, กรุงเทพฯ – เชียงใหม่, กรุงเทพฯ – ลำปาง, กรุงเทพฯ – สุโขทัย, กรุงเทพฯ – ภูเก็ต, กรุงเทพฯ – ตราด, กรุงเทพฯ – กระบี่, ภูเก็ต – สมุย, ภูเก็ต – หาดใหญ่ และภูเก็ต – อู่ตะเภา ทำให้ปี 2563 สายการบินฯ มีจำนวนผู้โดยสารรวมอยู่ที่ประมาณ 1,884,603 คน ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 67.8 และมีอัตราการขนส่งผู้โดยสารรวมอยู่ที่ร้อยละ 62.9 

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ออกมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
ทั้งในส่วนของสายการบินฯ และสนามบินของบริษัทฯ ทั้ง 3 แห่ง (สมุย สุโขทัย และตราด) โดยคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสุขอนามัยสูงสุด เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้โดยสาร 

สำหรับธุรกิจการลงทุน บริษัทฯ ได้ลงทุนในกิจการร่วมค้าบีบีเอส ร่วมกันจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ ได้แก่ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นเแนล เอวิเอชั่น จำกัด โดยมีทุนจดทะเบียน 4,500 ล้านบาท และได้ลงนามสัญญาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี

นอกจากนี้ บริษัท บางกอกแอร์ เอวิเอชั่น เทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย และเป็นบริษัทที่ได้รับการแต่งตั้งจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ให้เป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านการบินระดับภูมิภาค ได้รับใบรับรองจากสถาบันฝึกอบรมด้านการบิน (Certificate of Training Organization Approval) จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *