เนสท์เล่ ประกาศเดินหน้าการเกษตรแบบฟื้นฟู
ในฐานะบริษัทที่ร่วมลงนามในปฏิญาณ ‘Business Ambition for 1.5°C’ ของสหประชาชาติ เนสท์เล่นับเป็นบริษัทแห่งแรก ๆ ที่ออกมาเปิดเผยรายละเอียดและกรอบเวลา พร้อมดำเนินการตามแผนให้เร็วกว่าที่กำหนด เนสท์เล่ได้นำมาตรการหลายอย่างมาใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเหลือศูนย์ (net zero) ภายในปี 2593 พร้อมกับการสร้างความเติบโตให้บริษัทในเวลาเดียวกัน
การดำเนินการของเนสท์เล่มุ่งเน้นที่การสนับสนุนเกษตรกรและซัพพลายเออร์ให้สามารถทำการเกษตรแบบฟื้นฟู ตลอดจนปลูกต้นไม้หลายร้อยล้านต้นภายในอีก 10 ปีข้างหน้า และปรับองค์กรไปสู่การใช้พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนได้ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2568 นอกจากนี้ เนสท์เล่ยังพยายามเพิ่มจำนวนแบรนด์ในเครือที่ “ปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์” ให้มากขึ้น
ประธานกรรมการของเนสท์เล่ พอล บุลเก้ กล่าวว่า “คณะกรรรมการบริษัทตระหนักดีว่าการใช้มาตรการที่เฉียบขาดในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น เป็นสิ่งสำคัญในเชิงกลยุทธ์ เพราะมีส่วนช่วยทั้งเร่งและยกระดับการทำงานของเราให้พัฒนาไปสู่ความสำเร็จระยะยาวได้ และมีบทบาทช่วยสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้แก่คนรุ่นหลัง”
แนวทางตามแผนงานนี้ เกิดจากการทบทวนภาพรวมของธุรกิจและการดำเนินงานของเนสท์เล่เพื่อให้เข้าใจประเด็นความท้าทายนี้ได้อย่างลึกซึ้ง และตัดสินใจดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อรับมือกับสถานการณ์ บริษัทมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 92 ล้านตันในปี 2561 ซึ่งบริษัทจะใช้เป็นปีฐานในการประเมินความก้าวหน้าต่อไป
“การจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่เรารอไม่ได้ เพราะประเด็นนี้เป็นสิ่งสำคัญต่อความสำเร็จในระยะยาวของธุรกิจเรา” มาร์ค ชไนเดอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเนสท์เล่กล่าว “นับว่าเรามีโอกาสที่ดีมาก ๆ ในการแก้ไขและจัดการปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะเราดำเนินธุรกิจอยู่ในเกือบทุกประเทศทั่วโลก เราจึงมีความพร้อมทั้งด้านขนาด ศักยภาพ และการเข้าถึง ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ บริษัทจะร่วมมือกับเกษตรกร พันธมิตรในอุตสาหกรรม รัฐบาล องค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร และลูกค้าของเรา เพื่อร่วมกันช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม”
การดำเนินงานของเนสท์เล่ในการทำให้อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ครอบคลุม 3 ด้านหลัก ดังนี้:
บริษัทได้ทำงานร่วมกับเกษตรกรมากกว่า 500,000 ราย และซัพพลายเออร์อีก 150,000 ราย โดยช่วยสนับสนุนให้พวกเขานำแนวทางด้านการเกษตรฟื้นฟูไปใช้ ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะช่วยพัฒนาคุณภาพดิน รวมทั้งรักษาและฟื้นฟูความหลากหลายในระบบนิเวศ เนสท์เล่ได้ตอบแทนกลับสู่เกษตรกร ด้วยการซื้อสินค้าของพวกเขาในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด รวมถึงการซื้อสินค้าในปริมาณมากขึ้น และร่วมลงทุนในส่วนที่ต้องอาศัยเงินลงทุน ทั้งนี้ เนสท์เล่ตั้งเป้าว่าจะต้องจัดหาวัตถุดิบต่าง ๆ จากการทำการเกษตรแบบฟื้นฟูเป็นปริมาณ 14 ล้านตันภายในปี 2573 ซึ่งจะไปกระตุ้นความต้องการในสินค้าดังกล่าวด้วย
เนสท์เล่ยังได้ยกระดับโครงการปลูกป่าทดแทนให้เพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านต้นต่อปี ในช่วงอีก 10 ปีข้างหน้า ในบริเวณที่มีการจัดซื้อหรือจัดหาวัตถุดิบต่าง ๆ เพราะการมีต้นไม้มากขึ้น หมายถึงร่มเงาที่เพิ่มขึ้นสำหรับพืชผลต่าง ๆ ช่วยขจัดคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศได้เพิ่มขึ้น ให้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพและคุณภาพดินที่ดีขึ้นด้วย สำหรับการจัดหาสินค้าโภคภัณฑ์หลัก ๆ ของบริษัท อย่างน้ำมันปาล์มและถั่วเหลือง จะไม่มีการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2565 ความพยายามในการดำเนินมาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวระหว่างเนสท์เล่กับชุมชนเกษตรกร ด้วยการช่วยให้ชีวิตพวกเขามีความแน่นอนขึ้น และมีรายได้มากขึ้น
ด้านการดำเนินงาน เนสท์เล่คาดว่าจะสามารถปรับการดำเนินงาน 800 แห่งใน 187 ประเทศให้ใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนทั้ง 100% ได้ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งบริษัทได้เปลี่ยนรถขนส่งทั่วโลกให้เป็นแบบที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดการเดินทางเพื่อธุรกิจภายในปี 2565 นอกจากนี้ ยังนำมาตรการอนุรักษ์น้ำและฟื้นฟูแหล่งน้ำมาใช้ รวมทั้งจัดการกับปัญหาขยะอาหารที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานอีกด้วย
ด้านพอร์ตผลิตภัณฑ์ เนสท์เล่ได้ดำเนินการขยายฐานให้มีอาหารและเครื่องดื่มที่ทำจากพืช (plant-based) มากขึ้น และได้ปรับสูตรผลิตภัณฑ์ให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ เนสท์เล่พยายามเพิ่มแบรนด์ในเครือที่ “ปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์” ให้มีจำนวนมากขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย สำหรับแบรนด์อาหารจากพืช Garden Gourmet และอาหารเสริม Garden of Life จะปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ได้ภายในปี 2565 ส่วนแบรนด์ Sweet Earth และอีกหลายแบรนด์จะทำได้สำเร็จภายในปี 2568 นอกเหนือจากแบรนด์เหล่านี้แล้ว ยังมีแบรนด์ Nespresso, S.Pellegrino, Perrier และ Acqua Panna ที่มุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2565 ส่วนน้ำดื่มที่เหลือของ Nestlé Waters จะบรรลุเป้าหมายเดียวกันนี้ได้ภายในปี 2568
แม็กดิ บาตาโต รองประธานบริหารและหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติงาน กล่าวว่า “เกือบสองในสามของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเรามาจากการเกษตร จึงเห็นได้ชัดว่า การทำการเกษตรแบบฟื้นฟูและการปลูกป่าทดแทนจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะนำไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ความพยายามต่าง ๆ เหล่านี้ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและพัฒนาความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งเราจะพยายามลดการปล่อยก๊าซที่เกิดจากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และจะพัฒนาพอร์ตผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น สิ่งที่เราทำนั้นเป็นเรื่องยากแต่ก็มุ่งมั่นจะทำให้สำเร็จ”
ทั้งนี้ เนสท์เล่เตรียมลงทุนกว่า 3,200 ล้านสวิสฟรังก์ (ประมาณ 109,192 ล้านบาท คำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 4 ธันวาคม 2563) ในอีก 5 ปีข้างหน้าเพื่อเร่งการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งในจำนวนนี้จะเป็นการลงทุน 1,200 ล้านสวิสฟรังก์ (ประมาณ 40,947 ล้านบาท) เพื่อเร่งการทำการเกษตรแบบฟื้นฟูตลอดระบบซัพพลายเชนของบริษัท แหล่งเงินทุนของการลงทุนครั้งนี้จะมาจากการบริหารค่าใช้จ่ายของการดำเนินงานทางธุรกิจและค่าใช้จ่ายทางโครงสร้างให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อทำให้ไม่เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับการลงทุนครั้งนี้
เป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเนสท์เล่ได้รับการอนุมัติจาก Science Based Targets initiative (SBTi) ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายที่ต้องทำให้สำเร็จตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) โดย SBTi เป็น ความร่วมมือขององค์กรไม่แสวงผลกำไรซึ่งถือเป็นมาตรฐานสูงสุดระหว่างประเทศในการประเมินความมุ่งมั่นของภาคธุรกิจต่อเป้าหมายในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเหลือศูนย์ ซึ่งเนสท์เล่จะจัดทำรายงานความคืบหน้าในแต่ละปี เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินงาน