ภูมิแพ้ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และโควิด-19 แยกอาการอย่างไร ให้ไม่ตระหนก
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สร้างความตระหนกให้กับคนทั่วโลกจำนวนไม่น้อย เนื่องด้วยเป็นไวรัสชนิดใหม่ ที่ส่งผลกระทบร้ายต่อร่างกาย เช่น ระบบทางเดินหายใจ และปอด อาการของโรคในเบื้องต้นอาจมีความคล้ายกับโรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือภูมิแพ้ แต่จะแยกความแตกต่างอาการของโรคอย่างไร เพื่อลดความวิตกกังวล และสร้างความตระหนักรู้ในข้อสงสัยต่าง ๆ ให้มากขึ้น
พญ.ลินน่า งามตระกูลพานิช ผู้อำนวยการศูนย์โรคภูมิแพ้ และหอบหืด รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า อาการของโรคภูมิแพ้ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และโควิด-19 นั้น มีสิ่งที่คล้ายคลึงกันคือลักษณะอาการเนื่องจากเป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ จึงสามารถมีอาการแสดงคล้ายกันได้ ตั้งแต่มีอาการเล็กน้อยไปจนถึงอาการรุนแรง การทำความรู้จักอาการของทั้ง 3 โรค จะช่วยให้สามารถแยกอาการแตกต่างของโรคออกจากกันได้ เพื่อเฝ้าระวังโรคแบบตระหนักรู้และไม่ตื่นตระหนก
โรคภูมิแพ้ เป็นโรคที่เกิดจากการตอบสนองของร่างกายที่ไวต่อสารก่อภูมิแพ้มากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการผิดปกติกับอวัยวะที่สัมผัสสารก่อภูมิแพ้นั้น ๆ ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้แต่ละคนจะมีอาการแตกต่างกันและความรุนแรงไม่เท่ากัน เพราะชนิดของสารก่อภูมิแพ้ที่ได้รับและการตอบสนองของร่างกายแต่ละบุคคลต่างกันอาการของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้จะเกิดตามอวัยวะที่มีการอักเสบจากการกระตุ้นของสารก่อภูมิแพ้ ได้แก่ ผื่นคัน คันจมูก จาม มีน้ำมูก คัดจมูก ไปจนถึงไอ หอบ แน่นหน้าอก หายใจไม่คล่อง เป็นต้นในคนที่เป็นภูมิแพ้อยู่แล้ว หากถามว่าเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าปกติหรือไม่ ก็ต้องบอกว่า ไม่ได้มีความเสี่ยงมากกว่าปกติ แต่หากดูแลป้องกันตัวเองไม่ดีพอก็มีโอกาสติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อาการของโรคภูมิแพ้ประกอบด้วย จาม มีอาการน้ำตาไหล คันตา คัน/คัดจมูก อาจมีน้ำมูกไหล หรือเกิดผื่นแพ้ต่าง ๆ ได้การรักษาคือ ควรดูแลตัวเองหลีกเลี่ยงจากสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการแพ้ใช้ยาตามแพทย์สั่ง อาจล้างจมูก พ่นยาจมูก เพื่อป้องกันไม่ให้อาการกำเริบได้แต่หากเป็นภูมิแพ้และต้องสงสัยติดเชื้อโควิด-19 ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อปรึกษาความเสี่ยง
ไข้หวัด เป็นโรคติดเชื้อที่ได้พบบ่อย เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งมีหลายสายพันธุ์ มักพบในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลงความรุนแรงของโรคไม่มากและสามารถหายเองได้ภายในไม่กี่วัน สามารถติดต่อผ่านทางน้ำมูก น้ำลายและเสมหะ โดยการหายใจเอาเชื้อที่กระจายจากการไอ จาม หรือมือที่เปื้อนเชื้อโรคสัมผัสจมูกหรือตา อาการของโรคหวัด ได้แก่ คัดจมูก น้ำมูกไหลลักษณะใส ไอมีเสหะ จาม เจ็บคอ เสียงแหบ อาจมีอาการไข้ต่ำ ๆ ปวดศีรษะเล็กน้อย ในผู้ใหญ่อาการจะน้อยมากอาจมีแค่คัดจมูกและน้ำมูกไหล (ยกเว้นผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคทางการหายใจ) อาการของโรคมักเป็นไม่เกิน 2-5 วัน แต่อาจมีน้ำมูกไหลนาน 10-14 วันกล่าวคือ ติดต่อโดยการหายใจเอาละอองน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วยที่ไอ หรือ จาม และการสัมผัสมือ หรือการใช้สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ร่วมกับผู้ป่วย
ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา(Influenza virus) แบ่งเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พบกันมานานแล้ว อาการมักจะไม่รุนแรง และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่ปัจจุบันได้กลายเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่พบปะปนกับสายพันธุ์ต่างๆ ทั่วไปอาการสำคัญของไข้หวัดใหญ่คือ มีไข้สูงติดกันหลายวัน มีอาการปวดศีรษะปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไอแห้ง ๆ จาม เจ็บคอบางครั้งมีน้ำมูกซึ่งอาการจะคล้ายกับการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ค่อนข้างมากแต่ที่แตกต่างคือมักจะไม่มีอาการทางเดินหายใจส่วนล่างคือหายใจลำบาก แน่นหน้าอกเมื่ออาการมีความคล้ายคลึงกันในระยะเริ่มต้นของอาการป่วยลักษณะนี้ เวลาที่ไปพบแพทย์ แพทย์จะทำการส่งตรวจเชื้อไข้หวัดใหญ่ก่อนอันดับแรก เพื่อตัดประเด็นความคล้ายคลึงกันของอาการออกไป
การติดเชื้อโควิด-19บางคนอาจมีอาการรุนแรงไม่มาก มีลักษณะเหมือนไข้หวัดทั่วไป ขณะที่บางคนมีอาการรุนแรงมากทำให้เกิดปอดอักเสบได้อาการของผู้ป่วยโรคโควิด-19 จะเริ่มจากอาการไข้ รู้สึกเมื่อยล้า มีอาการไอแห้ง ๆ หายใจได้ลำบาก บางครั้งอาจมีอาการเจ็บคอ ทั้งนี้ โรคนี้สามารถหายได้เอง รูปแบบการรักษาเป็นไปตามอาการที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคลการทำความเข้าใจเกี่ยวกับไวรัสชนิดนี้ จะช่วยให้ดูแลสุขภาพ สุขอนามัย และสามารถป้องกันตนเองได้อย่างถูกวิธี
เนื่องจากไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือภูมิแพ้ เป็นโรคที่เคยเกิดขึ้นแล้วและร่างกายของคนเรามีภูมิคุ้มกันในระดับหนึ่ง แต่โควิด-19 เป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ที่ร่างกายของมนุษย์ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน ทำให้เวลาที่เชื้อเข้าไปในร่างกาย ในระบบทางเดินหายใจ เชื้อโรคจะลามเข้าไปสู่ปอด ส่งผลให้เกิดอาการปอดบวม ปอดอักเสบ ได้มากกว่าไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือโรคภูมิแพ้ ยิ่งในคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ สุขภาพไม่แข็งแรง มีโรคประจำตัว เป็นต้น แต่สิ่งที่เหมือนกันของทั้ง 3 โรคคือ การป้องกัน เช่นล้างมือบ่อย ๆ ไม่เอามือไปสัมผัสหน้าตา หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีคนแออัดในช่วงที่มีการระบาด เว้นระยะห่าง (Social Distancing) ในผู้สูงอายุ เด็กควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้งเพื่อความปลอดภัย ห่างไกลโรค